ข่าวกิจกรรมด้านบริหารจัดการ

สาธารณสุขศาสตร์ มข.จับมือมูลนิธิโตโยต้า มอบทุนโครงการหนูรักผักสีเขียวฯ

คณะสาธารณสุขศาสตร์ มข. ร่วมกับมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย มอบทุนโครงการหนูรักผักสีเขียวให้ 46 แห่ง พัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนอย่างยั่งยืน หวังแก้ปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหาร ส่งเสริมการพึ่งพาตนเอง

   อาหารนับว่าเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ของความต้องการของมนุษย์ การบริโภคที่ขาดสมดุลกับความต้องการของร่างกายย่อมนำไปสู่ภาวะทุพโภชนาการทั้งภาวะการขาดสารอาหาร และภาวะการได้รับสารอาหารเกิน อย่างไรก็ตามผลจากการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาด้านโภชนาการ ได้แก่ ปัญหาการได้รับสารอาหารเกิน และปัญหาการได้รับสารปนเปื้อนมากับอาหาร หรือที่เรียกว่าปัญหาความปลอดภัยในอาหารมากขึ้น ในปี พ.ศ. 2558 ทางมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทยและคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นจึงมีแนวคิดที่จะแก้ปัญหาการขาดธาตุเหล็กและปัญหาความปลอดภัยในอาหารโดยอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วม ระดมสมองผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ของตนเอง โดยการดำเนินการในครั้งนี้ได้นำไปสู่การพัฒนาหารูปแบบร่วมกับการบูรณาการกิจกรรมที่มีอยู่แล้วในหลักสูตรของโรงเรียนได้แก่ กิจกรรมการเกษตร กิจกรรมสหกรณ์ และกิจกรรมโครงการอาหารกลางวัน ซึ่งดำเนินการในโรงเรียนระดับประถมศึกษา 48 แห่ง ในจังหวัด ขอนแก่น ร้อยเอ็ด เลย และอุดรธานี

    เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2561 คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดพิธีมอบทุนโครงการหนูรักผักสีเขียว และความมั่นคงทางอาหารของโรงเรียนและชุมชน โดยได้รับเกียรติจาก คุณประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย กล่าวให้โอวาทแก่ผู้รับทุน และ รศ.พิษณุ อุตตมะเวทิน ผู้อำนวยการโครงการฯ กล่าวรายงานต่อประธาน ซึ่งมีตัวแทนของโรงเรียนเข้าร่วมรับทุน 46 แห่ง ณ ห้องตักศิลา คณะสาธารณสุขศาสตร์

     รศ.พิษณุ อุตตมะเวทิน ผู้อำนวยการโครงการหนูรักผักสีเขียว และความมั่นคงทางอาหารของโรงเรียนและชุมชน กล่าวว่า “คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย มีแนวคิดที่จะแก้ปัญหาการขาดธาตุเหล็กและปัญหาความปลอดภัยในอาหารโดยอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วม ระดมสมองผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ของตนเองโดยใช้กรอบ“มีให้” (Availability) โดยการส่งเสริมให้ชุมชนมีการผลิตอาหารปลอดภัย/ปลอดสารอย่างเพียงพอสำหรับโรงเรียนและชุมชน  “เข้าถึง” (Accessibility) โรงเรียนและชุมชนสามารถหาซื้อได้ง่ายในรูปแบบขายตรง ร้านค้า รถเร่หรือระบบตลาดชุมชน (จากการระดมสมอง) “พึงใจ” (Satisfaction) สามารถสนองตอบความต้องการด้านรสนิยมหรือวัฒนธรรมการบริโภคของนักเรียนหรือคนในชุมชนนั้นๆ   “ปลอดภัย” (Safety) อาหารที่ผลิตขึ้นในชุมชน/โรงเรียนต้องอยู่ในระดับปลอดภัย หรือปลอดสารพิษ และ “ราคาถูก” (Cheaper) เนื่องจากผลิตขึ้นเองในชุมชนทำให้ลดค่าขนส่ง และปัญหาพ่อค้าคนกลาง จึงทำให้ราคาอาหารถูกลง”

     คุณประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย กล่าวว่า ขอขอบคุณและชื่นชมในความอุตสาหะของท่านอาจารย์พิษณุ และคณะทำงานโครงการหนูรักผักสีเขียว ผู้บริหารโรงเรียน และครูอาจารย์ทุกท่าน ทุกท่านมีความสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนโครงการฯ ตั้งแต่เริ่มต้นวางแผนโครงการ เชิญชวน และคัดเลือกโรงเรียนต่างๆ เข้าร่วมโครงการฯ ติดตามผลการดำเนินงาน และพัฒนาโครงการฯมาอย่างต่อเนื่อง ขยายความรู้ทางโภชนาการและการเกษตรสู่คณะครูนักเรียนและชุมชน ผลสำรวจภาวะโภชนาการของเด็กดีขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี นักว่าการดำเนินงานประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ และโครงการฯยังเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้

    แม้ปีนี้จะเป็นปีสุดท้ายที่มูลนิธิฯ จะให้การสนับสนุนโครงการหนูรักผักสีเขียว เพื่อริเริ่มโครงการใหม่ที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมในปัจจุบัน อาทิโครงการเพื่อสังคมสูงวัย และโครงการส่งเสริมความรู้ระดับอาชีวศึกษา อย่างไรก็ดีโครงการหนูรักผักสีเขียวฯ ก็เป็นโครงการที่ดีและสร้างสรรค์ ที่ได้ส่งเสริมการผลิตอาหารปลอดภัยและปลอดสารพิษ ของโรงเรียนและชุมชน สนับสนุนโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียน ให้มีความพอเพียงและพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน ซึ่งได้ครอบคลุมไปถึงโรงเรียนระดับประถมศึกษาประมาณ 46 โรงเรียน ใน 19 ตำบลของ 4 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ขอนแก่น อุดรธานี ร้อยเอ็ด และจังหวัดเลย อีกทั้งยังได้รูปแบบการผลิตอาหารปลอดภัย/ปลอดสารที่ผลิตโดยชุมชนทดแทนที่โรงเรียนผลิตไม่เพียงพอ นำไปสู่การพึ่งพาตนเองและลดต้นทุนการขนส่ง ซึ่งมีผลต่อการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ของโรงเรียนและชุมชน ตลอดจนนำไปสู่การสร้างรายได้ และการลดความเสี่ยงจากการบริโภคอาหารที่มีสารปนเปื้อน ในอันที่จะนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป

รายงานข่าว/ถ่ายภาพ :  นายบริพัตร ทาสี(กองสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยขอนแก่น)