ข่าวกิจกรรมด้านวิจัยและบริการวิชาการ และด้านการต่างประเทศ

รศ.ดร.พรพรรณ สกุลคู ตีแผ่ข้อมูลด้านฝุ่นละอองในบรรยากาศ PM2.5 และ PM10 แนะวิธีการป้องกัน

รศ.ดร.พรพรรณ สกุลคู อาจารย์ประจำสาขาอนามัยสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัย และความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มข. โดยได้รับเกียรติให้เขียนบทความลงใน นิตยสาร ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน(Occupational Safety, Health and Environment); OSHE magazine ฉบับที่ 5 เรื่อง ฝุ่นละอองในบรรยากาศ PM2.5 และ PM10 หน้า 61-70 ดังนี้

      นิตยสาร ความปลอดภัยฯ เป็นนิตยสารได้รับความนิยม และเผยแพร่แก่นักวิชาการ บุคลากร ทางอาชีวอนามัย อ่านกันอย่างแพร่หลาย ทั้งหน่วยงานรัฐบาล และเอกชน เนื้อหาในบทความนี้ กล่าวถึงในปัจจุบันมีผลกระทบมากมายจากสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นและ ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คน เช่น ภาวะโลกร้อน ภัยพิบัติต่างๆ แต่หัวข้อที่กล่าวถึงอย่างมากมายในขณะนี้คือ ปัญหาฝุ่นละอองที่ปกคลุมเมืองหลวง และเมืองใหญ่ๆ ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบปัญหานี้ จากรายงานสถานการณ์มลพิษจากหน่วยงานทางด้านสิ่งแวดล้อม พบว่ามีค่าฝุ่นละอองที่เกินมาตรฐานในหลายพื้นที่ ในบทความนี้จะกล่าวถึงฝุ่นละอองในบรรยากาศชนิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5  และ PM10) และการป้องกัน

      ฝุ่น PM2.5  ถูกกล่าวขานว่าเป็น “ฝุ่นมลพิษ” ที่มีความอันตรายเป็นอย่างมาก หากเปรียบเทียบในการรับสัมผัสฝุ่นละอองขนาดเล็กเข้าร่างกาย ฝุ่น PM10 จะเข้าถึงเพียงโพรงจมูกและช่องคอ แต่ฝุ่น PM2.5 นั้นสามารถเข้าถึงหลอดลมใหญ่จนถึงถุงลมปอดได้ ในทางวิชาการฝุ่น 2.5 เทียบอย่างง่ายว่ามีขนาดประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ ขนจมูกของมนุษย์ไม่สามารถกรองได้ จึงสามารถแพร่กระจายเข้าสู่ทางเดินหายใจ กระแสเลือด และแทรกซึมสู่กระบวนการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคเรื้อรังและมะเร็ง ตามคำเตือนขององค์การอนามัยโลก

ภาพจากนิตยสารความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน Occupational Safety, Health and Environment

 

สำหรับฝุ่น PM2.5 หรือฝุ่นมลพิษนั้น มีแหล่งกำเนิดจากการคมนาคม การผลิตไฟฟ้า การเผาในที่โล่ง อุตสาหกรรมการผลิต การรวมตัวของก๊าซอื่นๆในบรรยากาศ

ค่ามาตรฐานความเข้มข้นของ PM2.5 และ PM10

      ในการกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศคำนึงถึงการที่จะควบคุมให้คุณภาพของอากาศในบรรยากาศมีความเหมาะสมต่อการดำรงชีพของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ จึงได้ถูกกำหนดขึ้นเพื่อที่จะให้หน่วยงานของรัฐซึ่งเกี่ยวข้องกับการควบคุมคุณภาพอากาศให้เป็นมาตรการสำหรับตรวจสอบและควบคุมดูแลให้สภาพแวดล้อมของบรรยากาศอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดดังกล่าว โดยมาตรฐานคุณภาพอากาศต่อไปนี้จะกล่าวถึงค่ามาตรฐานความเข้มข้นของ  PM2.5 และ PM10  ของ 9 หน่วยงาน ดังต่อไปนี้

             - National Ambient Air Quality Standards (NAAQS) มาตรฐานที่ออกโดย US.EPA
             - Air Quality Guidelines (AQG): WHO
             - Air Quality Framework Directive (AQFD): EU เป็นค่ามาตรฐานที่มีการกำหนดใช้ในยุโรป ซึ่งมีค่าความเข้มข้นกำหนดตามระยะเวลาการเก็บเฉลี่ย 3 ปี
             - Central Pollution Control Board (CPCB) of India ค่ามาตรฐานของประเทศอินเดีย กำหนดค่าความเข้มข้นสำหรับบริเวณโรงงานและบริเวณทั่วไป

             - AUSTRALIA: AIR QUALITY STANDARDS ค่ามาตรฐานของประเทศออสเตรเลีย
             - MEXICO: AIR QUALITY STANDARDS ค่ามาตรฐานของประเทศเม็กซิโก
             - Environmental Quality Standard (EQS) ; MOE (JAPAN) ค่ามาตรฐานของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีการกำหนดเพียงค่าความเข้มข้นของ PM2.5 เท่านั้น
             - Ambient Air Quality Standard (GB3095-2012) , China's AAQS-2012 : Primary standards ค่ามาตรฐานของประเทศจีน เป็น Primary standards คือมาตรฐานสูงสุดที่ได้กำหนดไว้ และแบ่งค่าความเข้มข้นเป็น 2 class ตามพื้นที่การเก็บคือ มาตรฐานชั้น 1 ใช้กับพื้นที่พิเศษเช่นอุทยานแห่งชาติ และมาตรฐานชั้น 2 ใช้กับพื้นที่อื่น ๆ ทั้งหมดรวมถึงเขตเมืองและเขตอุตสาหกรรม
             - มาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศทั่วไป ประเทศไทย - ออกโดยกรมควบคุมมลพิษ

      การศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่า มลพิษในอากาศ มีความสัมพันธ์ต่อสุขภาพในหลายระบบ เช่น  ทางเดินหายใจ ผิวหนัง หัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น ผลกระทบนอกจากทำให้เกิดความเจ็บป่วยทั้งระยะสั้นและระยะยาวแล้ว ยังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้ เช่นกัน โดยมีการศึกษาได้แสดงให้เห็นว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดโรคหอบหืดและโรคหัวใจ ทำลายประสาทและก่อให้เกิดมะเร็ง

      จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ตีพิมพ์งานวิจัยหัวข้อ Outdoor Air Pollution a leading environment cause of cancer deaths หรือมลภาวะทางอากาศเป็นต้นเหตุให้เกิดการเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง รวมถึงงานวิจัยของ Birminnham University UK ระบุว่า ฝุ่นพิษ PM2.5 เป็นสารก่อมะเร็งในอากาศกรุ๊ป 1 (Group 1) ซึ่งจะส่งผลโดยตรงกับความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งเต้านมของสตรีมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงยังส่งผลต่อโรคมะเร็งปอดของเพศชายในอัตรา 36 เปอร์เซ็นต์ ตลอดจนฝุ่นพิษขนาดเล็กดังกล่าวยังทำให้ผนังหลอดเลือดหนาขึ้น 5 ไมครอนต่อปี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของโรคหัวใจด้วยเช่นกัน (สำนักข่าวไทย, 2561) และจากการศึกษาของ ดร.มาร์ค โกลด์เบิร์ก ได้พบความเกี่ยวพันระหว่างการเป็นมะเร็งเต้านมของสตรีวัยหมดประจำเดือนแล้ว กับการสัมผัสกับก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ อันเป็นมลพิษทางอากาศที่เกิดจากการจราจร
      สรุปได้ว่า สตรีที่อยู่ในบริเวณซึ่งมีปริมาณมลพิษสูงสุด จะเสี่ยงกับที่จะเป็นมะเร็งเต้านมสูงกว่าผู้ที่อยู่ในบริเวณที่มีมลพิษน้อยกว่ากันถึง เท่า (สำนักข่าวไทยรัฐ, 2553) ล่าสุดก็มีผลงานวิจัยรายงานว่า PM2.5 มีความสัมพันธ์กับโรคเบาหวานอีกด้วย

ข้อมูลเนื้อหาโดย : รศ.ดร.พรพรรณ สกุลคู อาจารย์ประจำสาขาอนามัยสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัย และความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มข.
รายงานข่าวโดย : นายศรศักดิ์ อุระ