ข่าวกิจกรรมด้านบริหารจัดการ

งานคลังและพัสดุ จัดโครงการอบรม “ให้ความรู้เพื่อพัฒนากระบวนการทำงาน และลดความเสี่ยงในการปฏิบัติงานด้านการคลังและพัสดุ”

วันที่ 7 มีนาคม 2561 งานคลังและพัสดุ คณะสาธารณสุขศาสตร์ จัดโครงการอบรมเรื่อง “การให้ความรู้เพื่อพัฒนากระบวนการทำงานและลดความเสี่ยงในการปฏิบัติงานด้านการคลังและพัสดุ” ณ ห้องตักศิลา คณะสาธารณสุขศาสตร์ เพื่อให้ความรู้กับคณาจารย์และบุคลากรในด้าน กฎ ระเบียบ ข้อบังคับด้านการเงินการคลัง และด้านการพัสดุ และแนวปฏิบัติที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเงินและพัสดุเพื่อนำไปในการปฏิบัติงานต่อไป ทั้งนี้โดยได้รับเกียรติจาก นายอณัชปกร สารรัตน์ หัวหน้าสำนักงานคณบดี เป็นประธานเปิดโครงการฯ และได้รับเกียรติจาก นางพรรณี ศักดิ์ทัศนา หัวหน้างานบริหารงบประมาณ และ นายวีระชาติ สุริยะเสน หัวหน้างานพัสดุ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นวิทยากรในการจัดอบรมครั้งนี้

ถ่ายภาพ และรายงานข่าวโดย : นายศรศักดิ์  อุระ

 

ต้อนรับอาคันตุกะจาก Fukui University ประเทศญี่ปุ่น

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561 คณะสาธารณสุขศาสตร์ ได้ต้อนรับคณะอาคันตุกะจากประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ Professor Katsuji Onoda จาก Fukui University พร้อมด้วย Mr. Wataru Ikezaki และ Mr. Kenji Ohashi จากบริษัท Eiken Chemical ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งคณะดังกล่าวได้เดินทางมาหารือความร่วมมือทางวิชาการกับฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ข่าวโดย : ผุสดี ไกยวงษ์

 

สาขาวิชาการบริหารสาธารณสุข การส่งเสริมสุขภาพ โภชนาการ นำนักศึกษาดูงานและร่วมทอดผ้าป่าสามัคคีมหากุศล ณ เมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์

ระหว่างวันที่ 22 กุมภาพันธ์ – 4  มีนาคม  2561  นำโดย รศ.ดร.ประจักร บัวผัน ประธานหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารสาธารณสุข พร้อมด้วยคณาจารย์ประจำหลักสูตรฯ และนักศึกษา จำนวน 35 คน ศึกษาดูงาน ณ ศูนย์ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์, การบริหารจัดการน้ำ  และทอดผ้าป่าสามัคคีมหากุศล บำรุงพุทธสถานทอด ณ วัดพุทธวิหาร เมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ทั้งนี้ปัจจัยที่นำถวายวัด รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 183,754.92 บาท (หนึ่งแสนแปดหมื่นสามพันเจ็ดร้อยหน้าสิบสี่บาทเก้าสิบสองสตางค์)

รายงานข่าวโดย : นางศุภานัน พรมขอนยาง

 

โครงการ CIEE: Council On International Educational Exchange ภายใต้ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มอบเงินบริจาคน้ำท่วมแก่ชุมชนท้องถิ่น

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุชนรา ตาลกุล คัสเธอร์ และ อาจารย์Anthony C. Kuster เป็นตัวแทนจากคณะสาธารณสุขศาสตร์ และจากองค์กรแลกเปลี่ยนการศึกษาต่างประเทศ CIEE มอบเงินบริจาคให้กับหมู่บ้านบึงอีเฒ่า และ หมู่บ้านท่าแก ตำบลศิลา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

ชุมชนแห่งนี้ประสบภัยน้ำท่วมในช่วงเดือนตุลาคม และ พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 ในช่วงเวลานั้นนักศึกษาแลกเปลี่ยน CIEE จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ ได้เข้าไปเรียนรู้และพักอยู่ในชุมชนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในรายวิชา 510101 : Community public health และ 510103 : Public health field practicum นักศึกษาได้จัดโครงการการฟื้นฟูชุมชนหลังน้ำท่วม โดยการเข้าไปทำความสะอาดชุมชนในวันที่ 4 และ 5 ธันวาคม 2560 อีกทั้งยังช่วยทาสีศาลากลางหมู่บ้านใหม่ ซื้อโต๊ะและช่วยปลูกผัก ปลูกดอกไม้เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์หลังจากได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมที่ผ่านมา นอกจากนี้นักเรียนยังได้จัดแคมเปญระดมทุนออนไลน์เพื่อสมทบทุนฟื้นฟูชุมชน การระดมทุนออนไลน์นี้รวบรวมเงินบริจาคมากกว่า 200 เหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุชนรา ตาลกุล คัสเธอร์ ผู้รับผิดชอบโครงการ CIEE ได้เป็นตัวแทนมอบเงินบริจาคนี้ ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561 โดยชุมชนมีแผนจะใช้เงินบริจาคเพื่อซื้ออุปกรณ์ที่สามารถใช้ร่วมกันได้ที่ศูนย์ชุมชนและสนับสนุนธุรกิจโฮมสเตย์ที่กำลังเติบโตในชุมชน 

ท้ายนี้ ตัวแทนชุมชนได้แสดงความขอบคุณแก่มหาวิทยาลัยขอนแก่น อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์และนักศึกษา CIEE ที่ให้การสนับสนุนตลอดมา

ภาพ/ข่าวโดย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อนุชนรา ตาลกุล คัสเธอร์

 

สมาคมอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน (ส.อ.ป.) ร่วมกับ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ

สมาคมอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน (ส.อ.ป.) ร่วมกับ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และบริษัท 3M ประเทศไทย จำกัด จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “Ergonomics and Risk Assessment Program of WMSDs : Protective Equipment, Comfort and Prevention at Work” เมื่อวันที่ 14-15 กุมภาพันธ์ 2561 ณ ห้องประชุมตักศิลา อาคารอรุณจีรวัฒน์กุล คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยสู่สาธารณะ อันเป็นหนึ่งในนโยบายการดำเนินงานของหน่วยงานผู้จัดอบรมในครั้งนี้ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.สุนิสา ชายเกลี้ยง ประธานหลักสูตร วทม. อาชีวอนามัยและความปลอดภัย เป็นวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในหัวข้อการอบรม ทั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ พิทักษานุรัตน์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์  เป็นประธานเปิดงาน และมอบเกียรติบัตรแก่ผู้เข้ารับการอบรม การอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้มีผู้สนใจสมัครมามากเกินโควตา ซึ่งมาจากส่วนของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในโรงงานอุตสาหกรรม อาจารย์จากมหาวิทยาลัยอื่นๆ และผู้รับผิดชอบงานที่เกี่ยวข้องด้านนี้

 ภาพกิจกรรมการจัดอบรมในวันดังกล่าว

ถ่ายภาพ : นายเอกฤทธิ์ ปทุมพร, รายงานข่าวโดย : นางสาววรวรรณ  ภูชาดา นักศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (วิทยาการระบาดและชีวสถิติ)

 

 

สาธารณสุขศาสตร์ มข.จับมือมูลนิธิโตโยต้า มอบทุนโครงการหนูรักผักสีเขียวฯ

คณะสาธารณสุขศาสตร์ มข. ร่วมกับมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย มอบทุนโครงการหนูรักผักสีเขียวให้ 46 แห่ง พัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนอย่างยั่งยืน หวังแก้ปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหาร ส่งเสริมการพึ่งพาตนเอง

   อาหารนับว่าเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ของความต้องการของมนุษย์ การบริโภคที่ขาดสมดุลกับความต้องการของร่างกายย่อมนำไปสู่ภาวะทุพโภชนาการทั้งภาวะการขาดสารอาหาร และภาวะการได้รับสารอาหารเกิน อย่างไรก็ตามผลจากการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาด้านโภชนาการ ได้แก่ ปัญหาการได้รับสารอาหารเกิน และปัญหาการได้รับสารปนเปื้อนมากับอาหาร หรือที่เรียกว่าปัญหาความปลอดภัยในอาหารมากขึ้น ในปี พ.ศ. 2558 ทางมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทยและคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นจึงมีแนวคิดที่จะแก้ปัญหาการขาดธาตุเหล็กและปัญหาความปลอดภัยในอาหารโดยอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วม ระดมสมองผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ของตนเอง โดยการดำเนินการในครั้งนี้ได้นำไปสู่การพัฒนาหารูปแบบร่วมกับการบูรณาการกิจกรรมที่มีอยู่แล้วในหลักสูตรของโรงเรียนได้แก่ กิจกรรมการเกษตร กิจกรรมสหกรณ์ และกิจกรรมโครงการอาหารกลางวัน ซึ่งดำเนินการในโรงเรียนระดับประถมศึกษา 48 แห่ง ในจังหวัด ขอนแก่น ร้อยเอ็ด เลย และอุดรธานี

    เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2561 คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดพิธีมอบทุนโครงการหนูรักผักสีเขียว และความมั่นคงทางอาหารของโรงเรียนและชุมชน โดยได้รับเกียรติจาก คุณประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย กล่าวให้โอวาทแก่ผู้รับทุน และ รศ.พิษณุ อุตตมะเวทิน ผู้อำนวยการโครงการฯ กล่าวรายงานต่อประธาน ซึ่งมีตัวแทนของโรงเรียนเข้าร่วมรับทุน 46 แห่ง ณ ห้องตักศิลา คณะสาธารณสุขศาสตร์

     รศ.พิษณุ อุตตมะเวทิน ผู้อำนวยการโครงการหนูรักผักสีเขียว และความมั่นคงทางอาหารของโรงเรียนและชุมชน กล่าวว่า “คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย มีแนวคิดที่จะแก้ปัญหาการขาดธาตุเหล็กและปัญหาความปลอดภัยในอาหารโดยอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วม ระดมสมองผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ของตนเองโดยใช้กรอบ“มีให้” (Availability) โดยการส่งเสริมให้ชุมชนมีการผลิตอาหารปลอดภัย/ปลอดสารอย่างเพียงพอสำหรับโรงเรียนและชุมชน  “เข้าถึง” (Accessibility) โรงเรียนและชุมชนสามารถหาซื้อได้ง่ายในรูปแบบขายตรง ร้านค้า รถเร่หรือระบบตลาดชุมชน (จากการระดมสมอง) “พึงใจ” (Satisfaction) สามารถสนองตอบความต้องการด้านรสนิยมหรือวัฒนธรรมการบริโภคของนักเรียนหรือคนในชุมชนนั้นๆ   “ปลอดภัย” (Safety) อาหารที่ผลิตขึ้นในชุมชน/โรงเรียนต้องอยู่ในระดับปลอดภัย หรือปลอดสารพิษ และ “ราคาถูก” (Cheaper) เนื่องจากผลิตขึ้นเองในชุมชนทำให้ลดค่าขนส่ง และปัญหาพ่อค้าคนกลาง จึงทำให้ราคาอาหารถูกลง”

     คุณประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย กล่าวว่า ขอขอบคุณและชื่นชมในความอุตสาหะของท่านอาจารย์พิษณุ และคณะทำงานโครงการหนูรักผักสีเขียว ผู้บริหารโรงเรียน และครูอาจารย์ทุกท่าน ทุกท่านมีความสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนโครงการฯ ตั้งแต่เริ่มต้นวางแผนโครงการ เชิญชวน และคัดเลือกโรงเรียนต่างๆ เข้าร่วมโครงการฯ ติดตามผลการดำเนินงาน และพัฒนาโครงการฯมาอย่างต่อเนื่อง ขยายความรู้ทางโภชนาการและการเกษตรสู่คณะครูนักเรียนและชุมชน ผลสำรวจภาวะโภชนาการของเด็กดีขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี นักว่าการดำเนินงานประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ และโครงการฯยังเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้

    แม้ปีนี้จะเป็นปีสุดท้ายที่มูลนิธิฯ จะให้การสนับสนุนโครงการหนูรักผักสีเขียว เพื่อริเริ่มโครงการใหม่ที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมในปัจจุบัน อาทิโครงการเพื่อสังคมสูงวัย และโครงการส่งเสริมความรู้ระดับอาชีวศึกษา อย่างไรก็ดีโครงการหนูรักผักสีเขียวฯ ก็เป็นโครงการที่ดีและสร้างสรรค์ ที่ได้ส่งเสริมการผลิตอาหารปลอดภัยและปลอดสารพิษ ของโรงเรียนและชุมชน สนับสนุนโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียน ให้มีความพอเพียงและพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน ซึ่งได้ครอบคลุมไปถึงโรงเรียนระดับประถมศึกษาประมาณ 46 โรงเรียน ใน 19 ตำบลของ 4 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ขอนแก่น อุดรธานี ร้อยเอ็ด และจังหวัดเลย อีกทั้งยังได้รูปแบบการผลิตอาหารปลอดภัย/ปลอดสารที่ผลิตโดยชุมชนทดแทนที่โรงเรียนผลิตไม่เพียงพอ นำไปสู่การพึ่งพาตนเองและลดต้นทุนการขนส่ง ซึ่งมีผลต่อการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ของโรงเรียนและชุมชน ตลอดจนนำไปสู่การสร้างรายได้ และการลดความเสี่ยงจากการบริโภคอาหารที่มีสารปนเปื้อน ในอันที่จะนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป

รายงานข่าว/ถ่ายภาพ :  นายบริพัตร ทาสี(กองสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยขอนแก่น)