ข่าวกิจกรรมด้านบริหารจัดการ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เชษฐา งามจรัส พร้อมคณะดำเนินงาน จัดอบรมเชิงปฏิบัติการในโครงการ "การสร้างความรู้ด้านระบาดวิทยาของโรคไม่ติดต่อ (Non-Communicable Diseases – NCD) สำหรับประเทศไทย"

      ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เชษฐา งามจรัส อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาการระบาดและชีวสถิติ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการและคณะทำงานพัฒนาศักยภาพบุคลากรสาธารณสุขเพื่อการใช้ข้อมูลสุขภาพ 43 แฟ้ม ในการดำเนินโครงการ "การสร้างความรู้ด้านระบาดวิทยาของโรคไม่ติดต่อ (Non-Communicable Diseases – NCD) สำหรับประเทศไทย"

      เพื่อดำเนินการภายใต้โครงการดังกล่าว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เชษฐา งามจรัส ได้จัดทำโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ "การสร้างความรู้ด้านการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงระบาดวิทยาของโรคไม่ติดต่อในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ" ร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ (วพส.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และได้เชิญวิทยากรจากหลายสถาบันเข้าร่วมบรรยายด้วย ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.อภิรดี แซ่ลิ่ม จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี พญ.พันธนีย์  ธิติชัย จากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค อาจารย์ ดร.นิรันดร์ อินทรัตน์ จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

      วัตถุประสงค์ของการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อวิเคราะห์และแปลผลฐานข้อมูลโรคไม่ติดต่อที่มีอยู่ในระบบสาธารณสุข ตลอดจนเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรสาธารณสุขส่วนภูมิภาค เช่น สำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลจังหวัด ให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลของพื้นที่ได้

      โดยได้จัดให้มีการอบรมเชิงปฏิบัติการ "การสร้างความรู้ด้านการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงระบาดวิทยาของโรคไม่ติดต่อในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ" ในวันที่ 15 ถึง 17 สิงหาคม พ.ศ. 2561ณ โรงแรมเบสท์เวสเทิร์นรอยัลบุรีรัมย์ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ให้แก่เจ้าหน้าที่ไอทีที่รับผิดชอบฐานข้อมูล 43 แฟ้มและนักวิชาการสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานด้าน NCD ของจังหวัดในเขตสุขภาพที่ 9 และ 10

รายงานข่าวโดย : อาจารย์ศิวานนท์ รัตนะกนกชัย

 

หลักสูตรสาธารณสุขมหาบัณฑิต สาขาวิชาบริหารงานสาธารณสุขฯ รับการตรวจประเมินคุณภาพภายในระดับหลักสูตร ประจำปีการศึกษา 2560


วันที่ 13 กันยายน 2561 หลักสูตรสาธารณสุขมหาบัณฑิต สาขาวิชาบริหารงานสาธารณสุข รับการตรวจประเมินคุณภาพภายใน ระดับหลักสูตร ประจำปีการศึกษา 2560 โดยคณะกรรมการผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการกำกับติดตามหลักสูตรให้ได้มาตรฐานตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตร ของ สกอ. จำนวน 3 ท่านได้แก่ 1. ผศ.ไมตรี ปะการะสังข์ 2. รศ.ดร.วรางคณา สังสิทธิสวัสดิ์ 3. ดร.ภาวนา กิตติวิมลชัย ขอขอบพระคุณคณะกรรมการตรวจประเมินหลักสูตร ที่ได้้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างกรรมการบริหารหลักสูตร ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้อง และได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพหลักสูตรให้มีผลการดำเนินที่ดีขึ้น และได้มาตรฐานตามเกณฑ์ต่อไป

 

ภาพ/ข่าวจาก : Facebook คณะสาธารสุขศาสตร์, โพสต์โดย : Ped Nichapa Tarichkul‎

 

รศ.ดร.จุฬาภรณ์ โสตะ เข้ารับโล่ในฐานะศิษย์เก่าพยาบาลสภากาชาดไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ในวันศุกร์ที่ 10  สิงหาคม  2561 เวลา  09.30 – 11.30 น.  รศ.ดร.จุฬาภรณ์  โสตะ เข้ารับโล่ในฐานะศิษย์เก่าพยาบาลสภากาชาดไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่นำชื่อเสียงมาสู่สถาบัน ณ ห้องหม่อมเจ้าหญิงมัณฑารพ กมลาศน์  อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ ชั้น 3 สถานบันการพยาบาล ศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย (วิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย)

ข่าวโดย : ศุภานัน  พรมขอนยาง

 

ผศ.ดร.พอใจ พัทธนิตย์ธรรม และคณะฯ รับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายด้านวิชาการฯ

ผศ.ดร.พอใจ พัทธนิตย์ธรรม  ผศ.ดร.เชษฐา งามจรัส และ อ.ศิวานนท์ รัตนะกนกชัย ได้รับเชิญจากคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นวิทยากรบรรยาย  “Systematic Review & Meta-analysis course for Quantitative and Quantity Publication” ระยะที่ 2 ระหว่างวันที่ 28 - 29 มิถุนายน 2561 ณ ห้องประชุมพิสิฏฐ์-เนตรเฉลียว คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 

รายงานข่าวโดย : อาจารย์ศิวานนท์ รัตนะกนกชัย

 

คณะกรรมการวิชาการ คณะสาธารณสุขศาสตร์ ศึกษาดูงาน ณ คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และ ม.บูรพา

      คณะกรรมการวิชาการ คณะสาธารณสุขศาสตร์ นำโดย รศ.ดร.พรรณี บัญชรหัตถกิจ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและพัฒนานักศึกษา จัดโครงการศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพิ่มศักยภาพบุคลากรในการปฏิบัติงาน โดยเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2561 ได้เดินทางเข้าศึกษาดูงาน ณ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.สสิธร เทพตระการพร คณบดี, ดร.ทวีสุข พันธุ์เพ็ง รองคณบดีฝ่ายบริหาร, ผศ.ดร.อารุญ เกตุสาคร รองคณบดีฝ่ายวิชาการ ทีมหัวหน้างาน และบุคลากร ให้การต้อนรับ และในวันที่ 22 มิถุนายน 2561 คณะกรรมการวิชาการฯ ได้เดินทางต่อเพื่อเข้าศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับทางคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี โดยได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.ยุวดี รอดจากภัย คณบดี และ ทีมผู้บริหาร หัวหน้างาน และบุคลากรสำนักงานคณบดี ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น

    การจัดโครงการศึกษาดูงานในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนแผนปฏิบัติราชการของฝ่ายวิชาการ, การวิเคราะห์กระบวนการย่อยของกระบวนการการพัฒนาหลักสูตร,การวิเคราะห์คุณสมบัติบัณฑิตพึงประสงค์, วิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อน และทบทวนแผนพัฒนาวิชาการ ตลอดจนการพัฒนาการเรียนการสอนสำหรับคณาจารย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ และการศึกษาดูงานด้านระบบ, การบริหารหลักสูตร,การจัดการเรียนการสอนและวิจัย และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างคณะสาธารณสุขศาสตร์ กับมหาวิทยาลัยในเครือข่ายด้านสาธารณสุขศาสตร์ และให้คณาจารย์และบุคลากรมีโอกาศได้ศึกษาดูงานด้านการอนุรักษ์และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาประจำชาติของไทยอีกด้วย

ภาพบรรยากาศการเข้าศึกษาดูงาน ณ คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

ภาพบรรยากาศการเข้าศึกษาดูงาน ณ คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.บูรพา จ.ชลบุรี

ถ่ายภาพและรายงานข่าวโดย : นายศรศักดิ์  อุระ

 

อาจารย์จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้เยี่ยมชมระบบบำบัดน้ำเสียแบบ Vertical Loop Reactor และลานกำจัดกากตะกอนแบบ Planted reed bed ที่เมือง Lancaster County รัฐ Pennsylvania ประเทศสหรัฐอเมริกา

เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2561 ผศ.ดร.อนุชนรา ตาลกุล คัสเธอร์ และ อาจารย์ Anthony C. Kuster จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ไปเที่ยวชมโรงบำบัดน้ำเสียถนน Beam หรือ Beam Road Wastewater Treatment Plant (WWTP) ที่เทศบาล Brecknock Township เมือง Lancaster County รัฐ Pennsylvania ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้รับเกียรติจาก Mr. Jason Coyle ผู้อำนวยการเขต The Northern Lancaster County Authority (NLCA) เป็นผู้นำเยี่ยมชม แม้ว่า Beam Road WWTP เป็นระบบที่ไม่ใหญ่ โดยรับน้ำเสียแค่ 1,700 m3/d แต่ใช้วิธีการจัดการที่เป็นนวัตกรรมก้าวหน้า โดยใช้ถังปฏิกรณ์แบบแนวตั้ง หรือ Vertical Loop Reactor (VLR) จำนวน 3 ชุด กระบวนการนี้สามารถลดปริมาณสารอาหาร (ไนโตรเจนและฟอสฟอรัส) และลดบีโอดีได้อย่างมาก โดยผ่านสภาวะไร้อากาศและแอโรบิคคล้ายกับระบบ Oxidation ditch ซึ่งระบบ VLR นี้มีแค่เพียง 30 แห่งทั่วสหรัฐอเมริกา 

      นอกจากนี้ NLCA เป็นหน่วยงานแห่งแรกในสหรัฐอเมริกาที่ใช้กระจกรีไซเคิลปราศจากความคม (sharp-free glass) ในลากตากตะกอนแทนการใช้ทรายทั่วไปหรือที่รู้จักในชื่อ Sand bed filter นอกจากที่ใช้กระจกรีไซเคิลแล้วยังปลูกพืชพวกอ้อเล็ก อ้อน้อย (common reed) เป็นตัวกำจัดสารอาหารพวกไนโตรเจนและฟอสฟอรัสอีกด้วยซึ่งระบบลานตากตะกอนนี้เรียกว่า Planted reed bed

      ซึ่งการใช้เทคโนโลยีแบบผสมผสานเหล่านี้ ทำให้โรงบำบัดน้ำเสียถนน Beam สามารถปล่อยน้ำที่บำบัดแล้วซึ่งผ่านมาตรฐานน้ำที่ที่เข้มงวดสำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำ Chesapeake Bay watershed ซึ่งเป็นระบบนิเวศที่สำคัญและอ่อนไหวในภาคตะวันออกของสหรัฐฯ ดังนั้นน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วมีคุณภาพดีเยี่ยม โดย TSS น้อยกว่า 1 มิลลิกรัม / ลิตร , TN ประมาณ 3 มก./ล, TP ประมาณ 0.2 มก./ล. และ Fecal coliform ประมาณ 5 MPN / 100 มล.  นอกจากนี้ยังผลิตสารชีวภาพ (biosolids) จากกากตะกอน ประเภท EPA Class B ซึ่งเกษตรกรสามารถใช้เป็นปุ๋ยได้

      ขอดีของระบบนี้ โดยรวมคือใช้พื้นที่น้อย ประหยัดไฟฟ้าได้มาก ไม่ต้องใช้สารเคมี มีประสิทธิภาพสูงในการกำจัดสารอาหารพวกไนโตรเจนและฟอสโฟรัส น้ำทิ้งที่ผ่านระบบบำบัดมีคุณภาพสูงมากและ biosolid ที่เหลือยังสามารถนำมาเป็นปุ๋ยได้ ซึ่งเทคโนโลยีนี้อาจจะมีการนำมาใช้กับประเทศไทยในอนาคตก็เป็นได้

          
      

รายงานข่าวโดย : ผศ.ดร.อนุชนรา ตาลกุล คัสเธอร์