ผศ ดร. สมศักดิ์ พิทักษานุรัตน์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ จับมือบริษัทกรีน เมดเวสท์ จำกัด สร้างโรงกำจัดขยะติดเชื้อในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ลดปัญหาและความเสี่ยงด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อวันอังคารที่ 4 ตุลาคม 2559 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สมศักดิ์ พิทักษานุรัตน์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือโครงการจัดการขยะติดเชื้อ ณ แหล่งกำเนิด ร่วมกับ บริษัทกรีน เมดเวสท์ จำกัด เพื่อสร้างโรงกำจัดขยะติดเชื้อในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่มาจากหน่วยงาน คณะวิชาต่างๆ เช่น โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ และสถานบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ทั้งในศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมถึงจากห้องปฏิบัติการจากคณะวิชา และหน่วยงานต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในกรบริหารจัดการมูลฝอยติดเชื้อและลดปัญหาผลกระทบด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ
โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการกำจัดเชื้อ ณ แหล่งกำเนิด ลดผลกระทบต่อสภาพอากาศ อาทิเช่น ลดการปล่อยก๊าซที่เป็นมลพิษ ฝุ่นละออง และไดอ๊อกซิน ลดค่าใช้จ่ายในการจัดการ โดยเฉพาะค่าส่งขยะติดเชื้อไปเผาในเตาเผาภายนอก นอกจากนี้ยังเป็นการสนับสนุนการศึกษาวิจัยในการพัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมในการบริหารจัดการขยะติดเชื้อ และพัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางการบริการวิชาการและวิจัยด้านเทคโนโลยีการจัดการขยะติดเชื้อของภูมิภาคอาเซียน
“ตามแผนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่จะเป็น Green and Smart Campus หรือการเป็นองค์กรที่มีการจัดการที่ดีบนพื้นฐานของการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวที่มีความโดดเด่น และการมีส่วนร่วมในการลดภาวะโลกร้อน โดยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศ รวมถึงการบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายของแผนยุทธศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2560-2563 อีกทั้งยังเป็นการกำจัดขยะติดเชื้อจากแหล่งกำเนิด เพื่อลดความเสี่ยงด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมของประชากรทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยขอนแก่น” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สมศักดิ์ พิทักษานุรัตน์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ กล่าว
นายเฉลียว ตรีอรุณรักษ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทกรีน เมดเวสท์ จำกัด กล่าวเสริมว่า
“เป้าหมายของบริษัท คือนำกระบวนการกำจัดขยะติดเชื้อดังกล่าวเข้าไปใช้ในคณะแพทยศาสตร์ทุกแห่งในประเทศไทย และขยายออกไปถึงโรงพยาบาลทุกระดับ เพื่อลดการเคลื่อนย้ายขยะติดเชื้อ โดยการกำจัดขยะ ณ แหล่งกำเนิด ซึ่งเป็นการควบคุมปัจจัยต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดอันตราย ซึ่งจะไม่เพิ่มภาระเรื่องค่าใช้จ่ายให้กับหน่วยงาน โดยเริ่มจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นโครงการนำร่อง”
ขอขอบคุณ ข่าวโดย : https://www.kku.ac.th/ikku/portal2