ข่าวกิจกรรมด้านวิจัยและบริการวิชาการ และด้านการต่างประเทศ

คณาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาการระบาดและชีวสถิติ ออกให้บริการวิชาการแก่บุคลากรกรมการแพทย์ โดยสถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์

รศ.ดร.พอใจ พัทธนิตย์ธรรม และ อ.ศิวานนท์ รัตนะกนกชัย คณาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาการระบาดและชีวสถิติ คณะสาธารณสุขศาสตร์ ได้รับเชิญจาก กรมการแพทย์ โดยสถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ เป็นวิทยากรบรรยายหัวข้อ “การเขียนรายงานการวิจัยการทบทวนอย่างเป็นระบบเพื่อการตีพิมพ์ (Manuscript preparation for a systematic review)” และ “การใช้โปรแกรมในการช่วยจัดการ reference” ให้แก่คณาจารย์ นักวิชาการ และบุคลากรทางการแพทย์ ในวันที่ 1-2 เมษายน 2562 ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ

ข่าวโดย : อาจารย์ศิวานนท์ รัตนะกนกชัย

มข. ผนึกกำลัง ภาครัฐ เอกชน สู้ฝุ่นจิ๋ว PM 2.5

คณะสาธารณสุขศาสตร์ จัดเสวนาวิชาการ “ฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 ทางออกและแนวทางการจัดการ” สร้างความตระหนักถึงผลกระทบต่อสุขภาพ การจัดการ และแนวทางการป้องกัน

      เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2562 งานวิจัยและบริการวิชาการ คณะสาธารณสุขศาสตร์ จัดเสวนาวิชาการ “ฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 ทางออกและแนวทางการจัดการ” ณ ห้องประชุมตักศิลา ชั้น 1 อาคารอรุณ จิรวัฒกุล คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และเทศบาลนครขอนแก่น เป็นวิทยากรให้ความรู้ ร่วมแลกเปลี่ยน และให้ข้อเสนอแนะเรื่องการจัดการฝุ่น PM 2.5  ซึ่งในเวทีดังกล่าวได้รับเกียรติจาก นายธีรศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น ร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็นการแก้ไขปัญหา ได้แก่ การวางมาตรการบังคับใช้ การชดเชยและจูงใจ การใช้เครื่องจักรในเกษตรแทนการเผา รวมถึงการทบทวนอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ อีกทั้งได้กล่าวว่า “การวางมาตรการบังคับใช้ที่มีประสิทธิภาพใช่เพียงแต่จะห้ามอย่างเดียว แต่จะต้องให้ด้วย เช่น ให้ทางเลือก รวมถึงการให้การสนับสนุนด้วย”

      ข้อมูลฝุ่นในจังหวัดขอนแก่น ส่วนใหญ่มีสาเหตุหลักมาจากการเผาอ้อยก่อนตัดส่งโรงงาน และการเผาเพื่อเตรียมดินในการทำการเกษตร ข้อมูลดังกล่าวถูกเปิดเผยโดย นายวิรุณภพ สุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 10 ว่า ”ในพื้นที่เทศบาลนครขอนแก่นสามารถใช้มาตรการควบคุมการเผาได้ แต่ด้วยสภาพภูมิอากาศ และทิศทางลมจึงทำให้ขอนแก่นมีค่าสภาพอากาศที่สูงอยู่ ทั้งนี้เนื่องจากนอกเขตเทศบาลและจังหวัดใกล้เคียงมีการเผาอยู่”

      ทั้งนี้ยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านโรคจากการทำงาน และ ด้านอายุรกรรมและโรคปอด คือ อาจารย์ นพ.ปิติ จันทร์เมฆา จากโรงพยาบาลขอนแก่น และ รองศาสตราจารย์ นพ.อนัฆพงษ์ พันธุ์มณี จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ให้ความรู้เรื่องฝุ่น PM 2.5 และโรคที่เกิดขึ้นหลังจากการสัมผัสฝุ่น ทั้งนี้ยังได้เสนอแนะเรื่องการใช้หน้ากากอนามัย การปฏิบัติตัวเมื่อค่าฝุ่นเพิ่มขึ้น รวมถึงการสื่อสารให้ประชาชนได้ตระหนักถึงอันตรายที่เกิดขึ้นจากการเผา การใช้สื่อที่เหมาะสม และเข้าใจง่ายจะทำให้ประชาชนตระหนักรู้และสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมได้เอง เพราะการบังคับใช้กฎหมายอย่างเดียวอาจจะไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.พรพรรณ สกุลคู อาจารย์ประจำสาขาอนามัยสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัยและความปลอดภัย ได้ร่วมให้ข้อมูลผู้เข้าร่วมเสวนาเกี่ยวกับเครื่องมือในการวัดค่าฝุ่น รวมถึงค่ามาตรฐานต่างๆ ของแต่ละประเทศด้วย

      นายจุลนพ ทองโสภิต รองนายกเทศมนตรีนครขอนแก่น ได้กล่าวเสริมว่า “การแก้ปัญหาฝุ่นแต่ละพื้นที่นั้น จะต้องวางมาตรการให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละชุมชน การมีเครื่องมือในการวัดค่าฝุ่นที่เพียงพอ และการใช้กระบวนการการมีส่วนร่วมในชุมชน จะทำให้การแก้ปัญหามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”     

      “ตอนนี้ทุกคนรับทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและตระหนักแล้วว่าทุกคนล้วนเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดปัญหา การดำเนินการในขั้นต่อไปคือการหาทางออกร่วมกัน โดยเน้นไปที่การให้ความรู้ และเป็นตัวกลางในการแก้ปัญหาด้วยความเข้าใจและเข้าถึง เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุด รวมถึงการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเข้ามาช่วย” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ พิทักษานุรัตน์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ กล่าวในตอนท้ายการเสวนา

      การเสวนาที่จัดขึ้นได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ทั้งจากนักศึกษา คณาจารย์ จากหลายคณะวิชา องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นทั้งในจังหวัดขอนแก่นและต่างจังหวัด รวมถึงวิทยาลัย มหาวิทยาลัย หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน กว่า 138 คนเข้าร่วมฟังและร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง 

ภาพบรรยากาศในงาน

ข่าวโดย : ผุสดี ไกยวงษ์, ภาพ : เอกฤทธิ์ ปทุมพร

 

ผศ.ดร.อนุชนรา ตาลกุล คัสเธอร์ และ อาจารย์แอนโทนี คัสเธอร์ นำทีมลงพื้นที่ครั้งที่ 2 ต่อเนื่อง โครงการพัฒนาศักยภาพความเป็นเลิศในงานวิจัยด้านฟื้นฟูและแก้ไขปัญหายูโทรฟิเคชันในแหล่งน้ำจืด

วันที่ 20 มีนาคม 2562 นำโดย ผศ.ดร.อนุชนรา ตาลกุล คัสเธอร์ และ อาจารย์แอนโทนี คัสเธอร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มข. ร่วมกับ กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลบ้านเป็ด ลงพื้นที่ทดลองครั้งที่ 2 ต่อเนื่องโครงการพัฒนาศักยภาพ ความเป็นเลิศ ในงานวิจัย ด้านฟื้นฟูและแก้ไขปัญหายูโทรฟิเคชันในแหล่งน้ำจืด โดยการใส่สารส้มเพื่อลดปริมาณฟอสฟอรัสในดิน ณ สวนสาธารณบึงกี ต.บ้านเป็ด อ.เมือง จ.ขอนแก่น

ข่าวโดย : ผศ.ดร.อนุชนรา ตาลกุล คัสเธอร์, รายงานข่าวโดย : นายศรศกดิ์  อุระ

 

รศ.ดร.พอใจ พัทธนิตย์ธรรม ออกบริการวิชาการรับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “GRADE approach for Guideline development”

      รศ.ดร.พอใจ พัทธนิตย์ธรรม อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาการระบาดและชีวสถิติ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “GRADE approach for Guideline development” ในการอบรม “การใช้เครื่องมือการประเมินคุณภาพแนวทางเวชปฏิบัติสำหรับการวิจัยและการประเมินผล (AGREE II)” จากกรมการแพทย์ โดยสถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ ให้แก่คณาจารย์ นักวิชาการ และบุคลากรทางการแพทย์ ในวันที่ 7-8 มีนาคม 2562 ณ โรงแรมนารายณ์ สีลม กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเครื่องมือประเมินคุณภาพแนวทางปฏิบัติสำหรับการวิจัยและการประเมินผล

ข่าวโดย : อาจารย์ศิวานนท์ รัตนะกนกชัย

 

คณะสาธารณสุขศาสตร์ มข. ลงนาม MOU กับ ANU มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศออสเตรเลีย

คณะสาธารณสุขศาสตร์ มข. ขยายความร่วมมือทางวิชาการ จัดพิธีลงนาม MOU กับ Research School of Population Health, Australian National University ประเทศออสเตรเลีย

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 มีนาคม 2562 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ พิทักษานุรัตน์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ กับ  Research School of Population Health, Australian National University ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งทั้งสองสถาบันได้ตกลงที่จะขยายความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนด้านการวิจัย การเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ โครงการวิจัยร่วม การแลกเปลี่ยนนักศึกษาและบุคลากร และกิจกรรมอื่นๆ ที่จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาด้านวิชาการของทั้งสองสถาบัน

การลงนามในครั้งนี้ มี Professor Darren Gray หัวหน้ากลุ่ม Department of Global Health รองผู้อำนวยการ Research School of Population Health เป็นตัวแทนลงนามความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับคณะสาธารณสุขศาสตร์ พร้อมด้วย Dr.Matthew Kelly, Research Fellow และ Professor Archie Clements รองอธิการบดีฝ่ายวิทยาศาสตร์สุขภาพ จาก Curtin University ประเทศออสเตรเลีย เข้าร่วมพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการด้วย   

นอกจากนี้ Professor Darren Gray และ Dr.Matthew Kelly ได้เข้าศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับศูนย์จัดการข้อมูลและวิเคราะห์ทางสถิติ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต ถิ่นคำรพ ผู้อำนวยการศูนย์ฯ และคณะ ให้การต้อนรับและนำเสนอผลงานและการพัฒนางานวิจัยโดยใช้ข้อมูลจากศูนย์ นอกจากนี้แล้วยังได้เข้าศึกษาดูงานกลุ่มวิจัยวิทยาการระบาดและการป้องกันโรคมะเร็งในภูมิภาคอาเซียน โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.พงษ์เดช สารการ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และหัวหน้ากลุ่มวิจัย นำชมสำนักงานและนำเสนองานด้านการวิชาการการคัดกรองมะเร็งลำไส้ ระหว่างวันที่ 6 และ 7 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา

ภาพ : นายเอกฤทธิ์ ปทุมพร, รายงานข่าวโดย : น.ส.ผุสดี ไกยวงษ์

 

รศ.ดร.พรพรรณ สกุลคู ตีแผ่ข้อมูลด้านฝุ่นละอองในบรรยากาศ PM2.5 และ PM10 แนะวิธีการป้องกัน

รศ.ดร.พรพรรณ สกุลคู อาจารย์ประจำสาขาอนามัยสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัย และความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มข. โดยได้รับเกียรติให้เขียนบทความลงใน นิตยสาร ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน(Occupational Safety, Health and Environment); OSHE magazine ฉบับที่ 5 เรื่อง ฝุ่นละอองในบรรยากาศ PM2.5 และ PM10 หน้า 61-70 ดังนี้

      นิตยสาร ความปลอดภัยฯ เป็นนิตยสารได้รับความนิยม และเผยแพร่แก่นักวิชาการ บุคลากร ทางอาชีวอนามัย อ่านกันอย่างแพร่หลาย ทั้งหน่วยงานรัฐบาล และเอกชน เนื้อหาในบทความนี้ กล่าวถึงในปัจจุบันมีผลกระทบมากมายจากสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นและ ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คน เช่น ภาวะโลกร้อน ภัยพิบัติต่างๆ แต่หัวข้อที่กล่าวถึงอย่างมากมายในขณะนี้คือ ปัญหาฝุ่นละอองที่ปกคลุมเมืองหลวง และเมืองใหญ่ๆ ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบปัญหานี้ จากรายงานสถานการณ์มลพิษจากหน่วยงานทางด้านสิ่งแวดล้อม พบว่ามีค่าฝุ่นละอองที่เกินมาตรฐานในหลายพื้นที่ ในบทความนี้จะกล่าวถึงฝุ่นละอองในบรรยากาศชนิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5  และ PM10) และการป้องกัน

      ฝุ่น PM2.5  ถูกกล่าวขานว่าเป็น “ฝุ่นมลพิษ” ที่มีความอันตรายเป็นอย่างมาก หากเปรียบเทียบในการรับสัมผัสฝุ่นละอองขนาดเล็กเข้าร่างกาย ฝุ่น PM10 จะเข้าถึงเพียงโพรงจมูกและช่องคอ แต่ฝุ่น PM2.5 นั้นสามารถเข้าถึงหลอดลมใหญ่จนถึงถุงลมปอดได้ ในทางวิชาการฝุ่น 2.5 เทียบอย่างง่ายว่ามีขนาดประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ ขนจมูกของมนุษย์ไม่สามารถกรองได้ จึงสามารถแพร่กระจายเข้าสู่ทางเดินหายใจ กระแสเลือด และแทรกซึมสู่กระบวนการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคเรื้อรังและมะเร็ง ตามคำเตือนขององค์การอนามัยโลก

ภาพจากนิตยสารความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน Occupational Safety, Health and Environment

 

สำหรับฝุ่น PM2.5 หรือฝุ่นมลพิษนั้น มีแหล่งกำเนิดจากการคมนาคม การผลิตไฟฟ้า การเผาในที่โล่ง อุตสาหกรรมการผลิต การรวมตัวของก๊าซอื่นๆในบรรยากาศ

ค่ามาตรฐานความเข้มข้นของ PM2.5 และ PM10

      ในการกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศคำนึงถึงการที่จะควบคุมให้คุณภาพของอากาศในบรรยากาศมีความเหมาะสมต่อการดำรงชีพของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ จึงได้ถูกกำหนดขึ้นเพื่อที่จะให้หน่วยงานของรัฐซึ่งเกี่ยวข้องกับการควบคุมคุณภาพอากาศให้เป็นมาตรการสำหรับตรวจสอบและควบคุมดูแลให้สภาพแวดล้อมของบรรยากาศอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดดังกล่าว โดยมาตรฐานคุณภาพอากาศต่อไปนี้จะกล่าวถึงค่ามาตรฐานความเข้มข้นของ  PM2.5 และ PM10  ของ 9 หน่วยงาน ดังต่อไปนี้

             - National Ambient Air Quality Standards (NAAQS) มาตรฐานที่ออกโดย US.EPA
             - Air Quality Guidelines (AQG): WHO
             - Air Quality Framework Directive (AQFD): EU เป็นค่ามาตรฐานที่มีการกำหนดใช้ในยุโรป ซึ่งมีค่าความเข้มข้นกำหนดตามระยะเวลาการเก็บเฉลี่ย 3 ปี
             - Central Pollution Control Board (CPCB) of India ค่ามาตรฐานของประเทศอินเดีย กำหนดค่าความเข้มข้นสำหรับบริเวณโรงงานและบริเวณทั่วไป

             - AUSTRALIA: AIR QUALITY STANDARDS ค่ามาตรฐานของประเทศออสเตรเลีย
             - MEXICO: AIR QUALITY STANDARDS ค่ามาตรฐานของประเทศเม็กซิโก
             - Environmental Quality Standard (EQS) ; MOE (JAPAN) ค่ามาตรฐานของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีการกำหนดเพียงค่าความเข้มข้นของ PM2.5 เท่านั้น
             - Ambient Air Quality Standard (GB3095-2012) , China's AAQS-2012 : Primary standards ค่ามาตรฐานของประเทศจีน เป็น Primary standards คือมาตรฐานสูงสุดที่ได้กำหนดไว้ และแบ่งค่าความเข้มข้นเป็น 2 class ตามพื้นที่การเก็บคือ มาตรฐานชั้น 1 ใช้กับพื้นที่พิเศษเช่นอุทยานแห่งชาติ และมาตรฐานชั้น 2 ใช้กับพื้นที่อื่น ๆ ทั้งหมดรวมถึงเขตเมืองและเขตอุตสาหกรรม
             - มาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศทั่วไป ประเทศไทย - ออกโดยกรมควบคุมมลพิษ

      การศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่า มลพิษในอากาศ มีความสัมพันธ์ต่อสุขภาพในหลายระบบ เช่น  ทางเดินหายใจ ผิวหนัง หัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น ผลกระทบนอกจากทำให้เกิดความเจ็บป่วยทั้งระยะสั้นและระยะยาวแล้ว ยังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้ เช่นกัน โดยมีการศึกษาได้แสดงให้เห็นว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดโรคหอบหืดและโรคหัวใจ ทำลายประสาทและก่อให้เกิดมะเร็ง

      จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ตีพิมพ์งานวิจัยหัวข้อ Outdoor Air Pollution a leading environment cause of cancer deaths หรือมลภาวะทางอากาศเป็นต้นเหตุให้เกิดการเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง รวมถึงงานวิจัยของ Birminnham University UK ระบุว่า ฝุ่นพิษ PM2.5 เป็นสารก่อมะเร็งในอากาศกรุ๊ป 1 (Group 1) ซึ่งจะส่งผลโดยตรงกับความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งเต้านมของสตรีมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงยังส่งผลต่อโรคมะเร็งปอดของเพศชายในอัตรา 36 เปอร์เซ็นต์ ตลอดจนฝุ่นพิษขนาดเล็กดังกล่าวยังทำให้ผนังหลอดเลือดหนาขึ้น 5 ไมครอนต่อปี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของโรคหัวใจด้วยเช่นกัน (สำนักข่าวไทย, 2561) และจากการศึกษาของ ดร.มาร์ค โกลด์เบิร์ก ได้พบความเกี่ยวพันระหว่างการเป็นมะเร็งเต้านมของสตรีวัยหมดประจำเดือนแล้ว กับการสัมผัสกับก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ อันเป็นมลพิษทางอากาศที่เกิดจากการจราจร
      สรุปได้ว่า สตรีที่อยู่ในบริเวณซึ่งมีปริมาณมลพิษสูงสุด จะเสี่ยงกับที่จะเป็นมะเร็งเต้านมสูงกว่าผู้ที่อยู่ในบริเวณที่มีมลพิษน้อยกว่ากันถึง เท่า (สำนักข่าวไทยรัฐ, 2553) ล่าสุดก็มีผลงานวิจัยรายงานว่า PM2.5 มีความสัมพันธ์กับโรคเบาหวานอีกด้วย

ข้อมูลเนื้อหาโดย : รศ.ดร.พรพรรณ สกุลคู อาจารย์ประจำสาขาอนามัยสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัย และความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มข.
รายงานข่าวโดย : นายศรศักดิ์ อุระ