ข่าวกิจกรรมด้านวิจัยและบริการวิชาการ และด้านการต่างประเทศ

คณะสาธารณสุขศาสตร์ ต้อนรับอาคันตุกะจาก CTU ประเทศเมียนมาร์

     คณะสาธารณสุขศาสตร์ ต้อนรับคณะผู้บริหาร คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่ จาก Chindwin Technological University ประเทศเมียนมาร์ นำโดย  Mr. George Kyaw Htin Latt ซึ่งเป็น CEO ของมหาวิทยาลัยดังกล่าวและคณาจารย์ เจ้าหน้าที่รวม 7 คน ระหว่างวันที่ 25-27 สิงหาคม 2562 วัตถุประสงค์ของการมาเยือนในครั้งนี้เพื่อหารือความร่วมมือทางวิชาการในอนาคตร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งคณะดังกล่าว ได้เข้าพบ รองศาสตราจารย์ ดร.วงศา เล้าหศิริวงศ์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ และทีมผู้บริหาร คณาจารย์ของคณะฯ รวมถึงได้เข้าพบ อธิการบดี และทีมผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น และยังได้เข้าพบผู้บริหารของคณะวิชาต่างๆ อาทิ เช่น คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตการจัดการ คณะศึกษาศาสตร์ วิทยาลัยนานาชาติ และคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นอกจากนี้ยังได้เข้าเยี่ยมชม ศูนย์จัดการข้อมูลและวิเคราะห์ทางสถิติ (DAMASAC) ห้องสมุดคณะสาธารณสุขศาสตร์ หอสมุดมหาวิทยาลัยขอนแก่น และโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ด้วย

ข่าวโดย : ผุสดี ไกยวงษ์

 

รศ.ดร.สุนิสา ชายเกลี้ยง ประธานหลักสูตร วท.ม. อาชีวอนามัยและความปลอดภัย ได้รับเชิญจากองค์กรนานาชาติ ไปบรรยายเรื่องบทบาทของคณะกรรมการวิชาการพิษวิทยาอาชีวอนามัยในการส่งเสริมงานทางด้านอาชีวอนามัยระดับนานาชาติ

รศ.ดร.สุนิสา ชายเกลี้ยง ประธานหลักสูตร วท.ม. อาชีวอนามัยและความปลอดภัย ได้รับเชิญจากองค์กรนานาชาติ ไปบรรยายเรื่องบทบาทของคณะกรรมการวิชาการพิษวิทยาอาชีวอนามัยในการส่งเสริมงานทางด้านอาชีวอนามัยระดับนานาชาติ

ในระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 ถึง 3 สิงหาคม 2562, the South African Society of Occupational Medicine (SASOM) and the International Scientific Association for Occupational and Environmental Health in the Production and Use of Chemicals/ International Commission on Occupational Health (icoh) Scientific Committee on Occupational Health in the Chemical Industry (MEDICHEM) ได้เชิญ รองศาสตราจารย์ ดร.สุนิสา ชายเกลี้ยง  ประธานหลักสูตร วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ไปบรรยายในหัวข้อ “บทบาทของคณะกรรมการวิชาการทางพิษวิทยาอาชีวอนามัยในด้านความปลอดภัยและการควบคุมการใช้สารเคมีอันตรายต่อสุขภาพ (ICOH-Scientific Committee on Occupational Toxicology)” ที่งานประชุม “SASOM- MEDICHEM Joint Congress 2019 - Control of Substances hazardous to Health” ซึ่งจัดขึ้นที่เมือง Johannesburg ประเทศ South Africa

ความเป็นมาจาก International Commission on Occupational Health (icoh) เป็นสมาพันธ์อาชีวอนามัยนานาชาติ ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1906 จากการรวมตัวกันของคณะกรรมการทางวิชาการในด้านที่เกี่ยวข้องในงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย มีวัตถุประสงค์เพื่อคอยสนับสนุนวิชาการ วิจัย และบริการวิชาการ ความรู้ต่างๆ เพื่อการพัฒนางานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยระดับสากลและทั่วโลก  ปัจจุบันนี้มีจำนวนสมาชิกผู้เชี่ยวชาญกว่า 3000 คน จากจำนวนกว่า 100 ประเทศสมาชิกทั่วโลก สมาพันธ์ประกอบด้วย คณะกรรมการทางวิชาการ 37 ชุดย่อย (http://www.icohweb.org) โดยคณะกรรมการวิชาการทางพิษวิทยาอาชีวอนามัย (Occupational Toxicology) เป็นชุดกรรมการวิชาการที่สำคัญซึ่งคอยส่งเสริม ผลักดันงานวิชาการ วิจัย และการประชุมวิชาการ เพื่อให้เกิดการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทางพิษวิทยาอาชีวอนามัยทุกด้าน ปัจจุบันมีสมาชิกซึ่งมาจากกว่า 50 ประเทศสมาชิกทั่วโลก โดยเน้นงานหลักทางด้านการประเมินการสัมผัสสารเคมีของคนทำงานด้วยระบบการเฝ้าระวังทางสุขภาพด้วยการประเมินดัชนีชี้วัดการสัมผัส (Biological monitoring) และการประเมินความเสี่ยงทางสุขภาพด้านการสัมผัสสารเคมี ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนทางวิชาการของสมาชิกอย่างต่อเนื่องผ่านการเผยแพร่ผลงานร่วมกันออกสู่นานาชาติ ทั้งวารสารวิชาการ และการจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติร่วมกับสมาชิกคณะกรรมการวิชาการชุดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น Medichem, Rural Health, Nanomaterials, Toxicity of Metals เป็นต้น เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ งานวิจัย และความร่วมมือต่างๆ ในการป้องกันการรับสัมผัสสารเคมี รับพิษจากการสัมผัสสารเคมี และโรคจากการทำงานของแรงงานได้ทุกกลุ่ม ทุกเชื้อชาติทั่วโลก

 

ภาพและข่าว: เว็บเพจหลักสูตร วท.ม. อาชีวอนามัยและความปลอดภัย ม.ขอนแก่น

Link: https://www.facebook.com/MscOccPHKKU/posts/

 

คณะสาธารณสุขศาสตร์จัดประชุมวิชาการความท้าทายทางสุขภาพเพื่อการจัดทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับชาติและนานาชาติ ครั้งที่ 3 “การเฝ้าระวังและตรวจคัดกรองทางสุขภาพ : PM2.5, มะเร็งและการฆ่าตัวตาย”

      ในระหว่างวันที่ 22-23 กรกฎาคม 2562 คณะสาธารณสุขศาสตร์ จัดประชุมวิชาการความท้าทายทางสุขภาพเพื่อการจัดทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับชาติและนานาชาติ ครั้งที่ 3 เรื่อง “การเฝ้าระวังและตรวจคัดกรองทางสุขภาพ : PM2.5, มะเร็งและการฆ่าตัวตาย” ณ โรงแรมโฆษะ ขอนแก่น ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ เป็นประธานเปิดโครงการฯ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ พิทักษานุรัตน์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ เป็นผู้กล่าวรายงานโครงการฯ ซึ่งการจัดโครงการฯในครั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้รับรู้แนวโน้มการจัดทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเกี่ยวกับ “การเฝ้าระวังและตรวจคัดกรองทางสุขภาพ : PM2.5, มะเร็งและการฆ่าตัวตาย” ของระดับชุมชน ระดับชาติและประเทศภูมิภาคอาเซียน และเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลงานทางวิชาการฯ และเพื่อพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยระดับภูมิภาคระหว่างสถาบันวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเกี่ยวกับ “การเฝ้าระวังและตรวจคัดกรองทางสุขภาพ : PM2.5, มะเร็งและการฆ่าตัวตาย” ของระดับชุมชน ระดับชาติและประเทศภูมิภาคอาเซียน

      โดยมีนักวิชาการ, อาจารย์, บุคลากรเจ้าหน้าที่ และนักศึกษาผู้เข้าร่วมประชุมวิชาการฯในครั้งนี้จากเครือข่ายหลายประเทศ อาทิ ประเทศไต้หวัน, ประเทศเวียดนาม, ประเทศลาว และประเทศไทย

ข่าวโดย : นายศรศักดิ์  อุระ, ภาพโดย : นายเอกฤทธิ์ ปทุมพร                                        

 

รศ.ดร.พรพรรณ สกุลคู ให้บริการวิชาการเผยแพร่ข้อมูลลงใน นิตยสารความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน “OSHE Magazine”

นิตยสารความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (Occupational Safety, Health and Environment); OSHE Magazine เป็นนิตยสารได้รับความนิยมและเผยแพร่แก่นักวิชาการ บุคลากร ทางอาชีวอนามัย ซึ่งอ่านกันอย่างแพร่หลายทั้งหน่วยงานรัฐบาลและเอกชน โดยใน ฉบับที่ 6 นี้ มีเรื่องเด่นในฉบับอันได้แก่ 1. สีคิ้วโมเดลสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน 2. การใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืชในการปลูกพริก 3. การศึกษาและวิเคราะห์การลงทุนด้วยความปลอดภัยในสถานประกอบการ SMEs 4. นวัตกรรมลดอุบัติเหตุทางถนน ด้วยเทคโนโลยี AI

โดยเนื้อหาในนิตยสารฯ ดังกล่าว รศ.ดร.พรพรรณ สกุลคู อาจารย์ประจำสาขาอนามัยสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัย และความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มข. ได้รับเกียรติให้เขียนบทความ ในเรื่อง “การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในเกษตรกรผู้ปลูกพริก” และเรื่อง “การตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉินสารเคมีรั่วไหล” ระหว่างหน้า 62-73 เพื่อเป็นการให้บริการข้อมูลด้านวิชาการและเผยแพร่แก่สังคมต่อไป ทั้งนี้สามารถติดตามอ่านได้ใน นิตยสาร OSHE magazine หรือตามภาพประกอบท้ายนี้ หรือสามารถดาวน์โหลดแบบ PDF ไฟล์โดย <<คลิกที่นี่>>

ภาพในหนังสือนิตยสารฯ หน้า 62-73ิ

ข่าวโดย : รศ.ดร.พรพรรณ  สกุลคู

รายงานข่าวโดย : นายศรศักดิ์  อุระ

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เชษฐา งามจรัส ออกให้บริการวิชาการเป็นวิทยากรให้กับโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เชษฐา งามจรัส ออกให้บริการวิชาการรับเชิญเป็นวิทยากรให้กับโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ ในโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนางานวิจัยตามประเด็นความเชี่ยวชาญ กิจกรรมที่ 2 การพัฒนาทักษะในการใช้สถิติและโปรแกรม R ในการวิเคราะห์ข้อมูล ระหว่างวันที่ 18-19 มิถุนายน พ.ศ. 2562 ซึ่งในการอบรมดังกล่าวอาจารย์ได้นำนักศึกษาปริญญาโท สาขาวิชาชีวสถิติ ได้แก่ นายหัฎฐกร สำเร็จดี นางสาวศิริพร สุจจะชารี และ นางสาวกิตติยา พิมพาเรือ เข้าร่วมเป็นผู้ช่วยวิทยากร ทั้งนี้เพื่อฝึกประสบการณ์การให้คำแนะนำการใช้โปรแกรม R และสถิติ และประชาสัมพันธ์หลักสูตรปริญญาโท สาขาวิชาชีวสถิติ อีกด้วย

ข่าวโดย : อาจารย์ศิวานนท์ รัตนะกนกชัย

 

คณาจารย์จากสาขาวิชาวิทยาการระบาดและชีวสถิติ ให้บริการวิชาการเป็นวิทยากรบรรยายเชิงปฏิบัติการด้านชีวสถิติ

รศ.ดร.พอใจ พัทธนิตย์ธรรม, ผศ.ดร.เชษฐา งามจรัส และ อาจารย์ศิวานนท์ รัตนะกนกชัย คณาจารย์จากสาขาวิชาวิทยาการระบาดและชีวสถิติ ได้รับเชิญเป็นวิทยากรการบรรยายเชิงปฏิบัติการ “Introduction to Using and Producing Cochrane Reviews” ให้แก่นักวิจัย นักวิชาการ และคณาจารย์ จาก Faculty of Postgraduate studies, University of Health Sciences, Lao PDR วันที่ 14-15 มิถุนายน 2562 ณ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดอบรมเพื่อให้ผู้เข้าอบรมสามารถใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลทางการแพทย์ Cochrane library มีความรู้ความเข้าใจในหลักการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบและการวิเคราะห์เมตต้า (Systematic review & Meta-analysis) และสามารถผลิตผลงานวิชาการในระดับนานาชาติต่อไป

ข่าวโดย : อาจารย์ศิวานนท์ รัตนะกนกชัย